เปิดอินไซต์พ่อแม่กังวลพฤติกรรมดิจิทัล แคสเปอร์สกี้พบส่วนใหญ่คุมเข้มวิดีโอออนไลน์มากกว่าเว็บไซต์

เปิดผลสำรวจแคสเปอร์สกี้ พบผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่ง (48%) ใช้แอปควบคุมโดยผู้ปกครอง (parental control apps) และผู้ปกครอง 45% ตรวจสอบประวัติการใช้อินเทอร์เน็ตของบุตรหลานเป็นประจำ นอกจากนี้ 51% รายงานว่าบุตรหลานของตนใช้อุปกรณ์ดิจิทัลภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง (42%) หรือสมาชิกในครอบครัว (9%) โดยจุดที่ได้รับการควบคุมมากที่สุดคือวิดีโอออนไลน์ (60%) สูงกว่าเว็บไซต์ที่มีสัดส่วนการควบคุมน้อยกว่า

น.ส.มาริน่า ทิโทว่า รองประธานฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า ความจริงที่ว่าเด็กสมัยใหม่ใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่ปฐมวัย ทำให้บริษัทมองว่าพื้นที่ดิจิทัลเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติและคุ้นเคยเช่นเดียวกับการเดินเล่น แต่พื้นที่ดิจิทัลก็มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ปลอดภัย ซึ่งต้องสอนตั้งแต่วัยเด็ก เช่น การไม่สื่อสารกับคนแปลกหน้า หรือการไปในที่ที่ไม่คุ้นเคยและไม่รู้จัก ผู้ปกครองสามารถทำให้โลกดิจิทัลของลูกๆ มีความปลอดภัยมากขึ้นโดยปกป้องเด็กจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และช่วยให้เด็กได้เรียนรู้วิธีรักษาความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมดิจิทัลโดยใช้เครื่องมือและวิธีการต่างๆ

"ตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่สามารถส่งเสริมนิสัยดิจิทัลบางอย่างในครอบครัว และการใช้แอปควบคุมโดยผู้ปกครอง ซึ่งจะช่วยกรองหมวดหมู่เนื้อหาที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ออกไป ตลอดจนตรวจสอบกิจกรรมออนไลน์ของเด็กได้”

แคสเปอร์สกี้มองว่าเด็กสมัยใหม่มีความก้าวหน้าทางเทคนิคมากกว่าคนรุ่นก่อนตั้งแต่อายุยังน้อย สามารถเข้าถึงแกดเจ็ตและประสบการณ์ตรงตอนที่อายุน้อยกว่ามาก ทั้งนี้เด็กๆ อาจไม่ทราบกฎเกณฑ์ของพฤติกรรมออนไลน์ที่ปลอดภัยทั้งหมด สถานการณ์นี้ทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่พยายามติดตามกิจกรรมออนไลน์ของบุตรหลานเพื่อความปลอดภัย

ผลสำรวจของแคสเปอร์สกี้พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่พยายามควบคุมวิดีโอที่เด็กชม (60%) รวมถึงควบคุมเว็บไซต์ที่เด็กเข้าดู (56%) และเกมที่เล่น (52%) นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 49% ต้องการจำกัดเวลาที่เด็กๆ ใช้ออนไลน์ตลอดทั้งวัน

ในการติดตามกิจกรรมออนไลน์ของเด็กๆ ผู้ปกครองมากกว่าครึ่ง (55%) พูดคุยถึงนิสัยดิจิทัลที่ดี การใช้แอปควบคุมโดยผู้ปกครอง (48%) และ 45% ตรวจสอบประวัติการท่องเว็บของบุตรหลาน อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบหนึ่งในสี่ (23%) ไว้วางใจบุตรหลานของตนและไม่ได้ควบคุมด้วยวิธีใดๆ เลย

จากการสำรวจพบว่าผู้ปกครองและครอบครัว (87%) มีหน้าที่หลักในการควบคุมพฤติกรรมของเด็กในโลกดิจิทัล ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าหนึ่งในสี่ (28%) เชื่อว่าเป็นหน้าที่ของครูและโรงเรียน และ 27% รู้สึกว่าเด็กควรมีความรับผิดชอบส่วนบุคคลด้วย

นอกจากนี้ พบว่าผู้ปกครอง 90% ได้พูดคุยถึงกฎระเบียบพฤติกรรมออนไลน์และมารยาททางดิจิทัลกับบุตรหลานของตน มีเพียงหนึ่งในสิบของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด (10%) ที่ไม่ได้คุยหัวข้อนี้กับลูกๆ

น.ส.เบอร์กิตต์ โฮลเซล และนายสเตฟาน รูซาส นักบำบัดจาก Liebling + Schatz ในมิวนิก กล่าวว่า แม้ความเชื่อใจนั้นดีกว่าการควบคุม แต่เมื่อพูดถึงการบริโภคสื่อแล้ว สิ่งที่ผู้ปกครองไม่ไว้วางใจคือเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่ลูกของตนเอง นั่นเป็นเหตุผลที่การควบคุมกฎระเบียบเป็นความคิดที่ดี เพราะสอดคล้องกับความต้องการของผู้ปกครองที่จะปกป้องบุตรหลานของตน

"อย่างไรก็ตาม ยังมีภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าจำเป็นต้องมีการควบคุมมากน้อยแค่ไหน เราทุกคนทราบดีว่าเด็กๆ มักจะมองหาพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อเพลิดเพลินกับประสบการณ์ที่ปราศจากการควบคุมโดยผู้ปกครอง ความเป็นอิสระนี้มีความสำคัญและควรได้รับอนุญาต ขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือผู้ปกครองต้องเจรจาเรื่องกฎเกณฑ์กับเด็กๆ แม้ว่าการสนทนาเหล่านี้จะท้าทายในบางครั้ง เด็กจะเคารพกฎและขอบเขตหากสามารถเข้าใจกฎเกณฑ์และผลที่ตามมา นั่นเป็นเหตุผลที่เราแนะนำให้ผู้ปกครองใช้แอปป้องกันเด็กหรือเปิดใช้งานการตั้งค่าความปลอดภัยอย่างโปร่งใสและอธิบายให้เด็กๆ รับรู้ นี่คือความสำเร็จของการศึกษาสื่อเชิงรุก"

แคสเปอร์สกี้ย้ำว่า เด็กส่วนใหญ่มีสมาร์ทโฟนเครื่องแรกเมื่ออายุ 9-10 ขวบ ซึ่งเป็นประตูสู่โลกการศึกษาและความบันเทิง แต่ยังเต็มไปด้วยเนื้อหาที่เป็นปัญหา เหมือนการได้ออกไปพบการจราจรบนท้องถนนที่น่าตื่นเต้นอย่างเหลือเชื่อ แต่สิ่งสำคัญคือผู้ปกครองต้องพาลูกไปทีละขั้นตอนเพื่อติดต่อสื่อสารกันให้ได้มากที่สุด

"สำหรับการขับรถ เรามีกฎจราจรและป้ายบอกทาง เราต้องการสิ่งเหล่านั้นบนอินเทอร์เน็ตด้วย"

สิ่งที่แคสเปอร์สกี้แนะนำเพื่อช่วยให้ผู้ปกครองมั่นใจว่าบุตรหลานของตนปลอดภัยทางออนไลน์ คือเด็กๆ อาจขาดความรู้เกี่ยวกับสุขอนามัยในโลกไซเบอร์และการรักษาความปลอดภัยออนไลน์ขณะใช้แกดเจ็ต ผู้ปกครองสามารถช่วยได้ด้วยการพูดคุยถึงสถานการณ์ที่เป็นไปได้และเป็นตัวอย่างที่ดี

นอกจากนี้ การติดตั้งแอปควบคุมโดยผู้ปกครอง (parental control app) เป็นความคิดที่ดี อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ควรพูดคุยเรื่องนี้ และอธิบายเหตุผลการกระทำเพื่อให้เด็กๆ เข้าใจ และหากบุตรหลานเป็นผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กและแชร์เนื้อหาจำนวนมาก ก็ควรพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาการแชร์มากเกินไปและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล โดยสามารถสมัครรับข้อมูล (subscribe) ซึ่งกันและกันบนโซเชียลเน็ตเวิร์กและพยายามสร้างตัวอย่างที่ดี ตรวจสอบ geotags บนภาพถ่ายเสมอ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อมูลที่เป็นความลับไม่ปรากฏในภาพถ่ายหรือคำอธิบายภาพ ตรวจสอบความคิดเห็น ปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้บุตรหลานทราบถึงวิธีการแบ่งปันข้อมูลอย่างปลอดภัยและรักษาความเป็นส่วนตัวไว้ได้

สำหรับการสำรวจ Raising the smartphone generation ครอบคลุมผู้ตอบแบบสอบถาม 11,000 คนในเดือนกันยายน 2021 ประกอบด้วยผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่กับเด็กอายุ 7-12 ปีเต็มเวลา กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้ตอบแบบสอบถาม 1,000 คนจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี และ 500 คนจากสหรัฐอเมริกา ตุรกี อียิปต์ บราซิล โคลัมเบีย รัสเซีย แอฟริกาใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย ไนจีเรีย เปรู ชิลี อาร์เจนตินา และเม็กซิโก

Leave a Comment