AIS เปิด ‘V-Avenue.co’ พัฒนา VR สู่แหล่งชอปปิ้ง มุ่งมั่นช่วยเหลือคนไทย (Cyber Weekend)

เมื่อเป้าหมายของ AIS คือการนำเทคโนโลยี 5G มาช่วยเชื่อมต่อเพื่อช่วยเหลือคนไทยทุกคน นอกเหนือจากนำเครือข่ายสื่อสารไปติดตั้งในพื้นที่โรงพยาบาลสนาม การนำโซลูชันทางการแพทย์เข้าไปช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ลดความเสี่ยง จนถึงการนำแพลตฟอร์มมาช่วยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาช่วยคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ถือเป็นแนวทางที่เน้นเข้าไปช่วยเหลือประชาชน และบุคลากรต่างๆ เป็นหลัก

ในอีกมุมหนึ่ง การเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายดิจิทัล ทำให้ AIS มีประสบการณ์ และนวัตกรรมที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมเพื่อสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้นแก่ผู้บริโภค เพื่อเข้าไปช่วยเหลือร้านค้า และผู้ประกอบการธุรกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงอยู่บ้านเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ถ้ามองย้อนไปในปีที่ผ่านมา ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ AIS เคยนำนวัตกรรมอย่าง VR (Virtual Reality) มาใช้ในการจัดงาน AIS 5G Thailand Virtual Expo รวบรวมสินค้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากผู้ค้ารายย่อยกว่า 500 ร้านค้า มาให้คนไทยได้สัมผัสประสบการณ์โลกเสมือนจริง

ในปี 2564 นี้ เลยมีการต่อยอดด้วยการผสมผสานระหว่าง VR และโลกของอีคอมเมิร์ซ ให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาเปิดห้างสรรพสินค้า หรือหน้าร้านเพื่อวางจำหน่ายสินค้าในโลกเสมือนภายใต้ Virtaul Avenue แห่งแรกของโลก และที่สำคัญคือเปิดให้ผู้ที่สนใจลงทะเบียนเข้าไปใช้งานฟรี

ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ให้ข้อมูลว่า เทคโนโลยี 5G และ VR เริ่มเข้ามามีบทบาทกับอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค

“ในมุมของ AIS ที่เป็นผู้นำทางด้านดิจิทัล จึงมีโอกาสในการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในส่วนของค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบจากลูกค้าที่เดินทางไปหน้าร้าน หรือตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ น้อยลงในช่วงที่ช่วยกันกักตัว”

โดยที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกองค์กรธุรกิจต่างมีการปรับตัวเพื่อให้เตรียมพร้อมป้องกันกับความเปลี่ยนแปลงที่มีโอกาสเกิดขึ้น ในส่วนของ AIS ตั้งแต่วันแรกที่พบเจอสถานการณ์โควิด-19 ก็เล็งเห็นแล้วว่า การใช้ชีวิตของผู้คนหลังจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไป การให้บริการต่างๆ ต้องเปลี่ยนรูปแบบไป

“การนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้งานในเวลานี้ เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ซึ่งที่ผ่านมา AIS มองว่าธุรกิจอย่างอีคอมเมิร์ซ และอีมันนี่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สถานการณ์นี้ยิ่งทำให้ทุกอย่างชัดเจนมากขึ้น”

เพียงแต่ที่ผ่านมา ท่ามกลาง Digital Disruption เครือข่ายเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเครือข่ายต้องทำงานได้ต่อเนื่อง จึงทำให้ AIS สามารถรักษาการเติบโตได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องนำนวัตกรรมมาช่วยให้ธุรกิจอื่นๆ สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาได้ด้วย

ผลการวิเคราะห์จากสำนักวิจัยหลายแห่งคาดการณ์ว่า เทคโนโลยี VR AR รวมถึง XR ต่างๆ จะเข้ามาช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตถึง 45 ล้านล้านบาท ภายในไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า และส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานทั่วโลกกว่า 23 ล้านตำแหน่ง เนื่องจากเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่

เพื่อให้ประเทศไทยก้าวทันกับเทคโนโลยีเสมือนจริงนี้ พร้อมกับการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทำให้ AIS ไม่ได้คาดหวังที่จะสร้างรายได้ หรือกำไรจากแพลตฟอร์มนี้ แต่เน้นเปิดประสบการณ์ และนำเทคโนโลยีใหม่มาให้คนไทยได้เข้าใช้งานกัน

“กลุ่มเป้าหมายหลักของ ที่เปิดให้บริการเป็นแหล่งรวมศูนย์การค้าชั้นนำบนโลกเสมือนจริงแห่งแรกของโลกนี้ ในช่วงแรกจะเป็นกลุ่ม Early Adopter ที่มีสัดส่วนราว 10-15% ของประชากรไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่รับเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานในชีวิตประจำวันเร็วกว่าประเทศอื่นๆ เสมอมา”

ขณะเดียวกัน ความท้าทายของการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ คือ การสร้างโลกเสมือนขึ้นมา และต้องทำให้เกิดความประทับใจในการใช้งานของกลุ่มเป้าหมายแรกนี้ เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และในอนาคตจะกลายเป็นฐานลูกค้าสำคัญของแพลตฟอร์ม

โดยทาง AIS จะเปรียบเหมือนผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซึ่งเป็นสถานที่ในโลกเสมือน เพื่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาเปิดพื้นที่ขายสินค้า และบริการต่างๆ ช่วยให้ร้านค้าสามารถเข้าถึงฐานลูกค้า AIS กว่า 42.7 ล้านราย ที่จะได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มเติมมาช่วยกระตุ้น และพลิกฟื้นเศรษฐกิจในสถานการณ์แบบนี้ โดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่แต่อย่างใด

ในช่วงแรก จะมีพันธมิตรในอุตสาหกรรมค้าปลีกที่เข้าร่วมอย่าง เดอะมอลล์, ดิ เอ็มโพเรียม, ทีวีไดเร็ค, Loft, Jung Saem Mool และ ALAND ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์แฟชั่น อุปกรณ์กีฬา เครื่องสำอาง จนถึงผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจก็สามารถเข้าไปร่วมได้

ส่วนในอนาคต AIS วางแผนในการพัฒนาฟีเจอร์เพิ่มเติมเพื่อให้การเลือกสินค้ามีสีสันมากยิ่งขึ้น อย่างการเปิดให้ LIVE ให้คำแนะนำในการเลือกซื้อสินค้า และเปิดพื้นที่ลานหน้าห้าง ให้ผู้ประกอบการเข้ามาจัดแสดงสินค้า คอนเสิร์ต แฟชั่นโชว์ ให้กลายเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ AIS พัฒนาเฉพาะแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการนำร้านค้า หรือสินค้าเข้ามาเปิดพื้นที่ในโลกเสมือน ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมทั้งรูปภาพ รายละเอียดข้อมูลต่างๆ รวมไปถึงการมีช่องทางอีคอมเมิร์ซ อย่างหน้าเว็บไซต์ หรือมาร์เกตเพลสต่างๆ รองรับการเข้าไปเลือกชมสินค้าเพิ่มเติม เพราะสินค้าที่นำมาจัดวางจะแสดงได้เฉพาะบางส่วนเท่านั้น เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าที่เข้าชมเว็บไซต์ ให้ความสนใจ ก่อนกดเข้าไปเลือกซื้อ

นอกจากนี้ ยังต้องรวมถึงระบบเพย์เมนต์ และบริการโลจิสติกส์ต่างๆ ที่หลังจากผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้า ชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการจัดส่ง ทำให้ทุกฝ่ายในอีโคซิสเต็มนี้ได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ AIS ยึดมั่นมาตลอดคือเติบโตไปพร้อมกันทุกภาคส่วน

Leave a Comment